ปั๊มน้ำกับงานโซล่าเซลล์

ปั๊มน้ำสำหรับโซล่าเซลล์ - ปก2

ปั้มน้ำ DC สำหรับระบบโซล่าเซลล์
บ้านเราตามท้องตลาดจะมี 4 ชนิดใหญ่

1. ปั๊มหอยโข่ง
2. ปั๊มไดโว่
3. ปั๊มชัก
4. ปั๊มซับเมอร์ส

 

ปั้มหอยโข่ง

 

ชนิดแรก : ปั๊มหอยโข่ง DC


เป็นปั้มชนิดติดตั้งบนพื้นดิน 
นิยมเอาไป ดูดบ่อพักน้ำ 

เวลาใช้งานต้องต่อท่อจากตัวปั๊มลงไปที่น้ำ
ให้ดูดขึ้นมาและต่อท่อส่งออกไปยังที่ๆ ต้องการ

โดยมากแนวดิ่งจะดูดขึ้นได้ไม่เกิน 5 เมตร
นิยมใช้ในแนวราบมากกว่า

ระยะทางไกลและความแรงของน้ำในแนวราบ
จะขึ้นกับขนาดของตัวมอเตอร์ ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งดี
(แต่ก็ยิ่งแพง)

ราคาเริ่มต้นมีตั้งแต่หลักพันขึ้นไป

 

ปั้มไดโว

 

ชนิดที่สอง : ปั้มไดโว่ หรือ ปั๊มแช่ DC


ปั้มไดโว่เป็นปั๊มที่มีการใช้งานง่ายมาก
เพียงแค่ต่อสายหรือท่อน้ำที่ทางส่ง
แล้วนำเอาตัวปั้มไปจุ่มน้ำ
( สามารถจุ่มมิดปั๊มเลยก็ได้ในบางรุ่น )
ก็สามารถใช้งานได้แล้ว

นิยมใช้ส่งน้ำในแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง
เพราะแนวดิ่งจะสูบน้ำขึ้นได้ไม่เกิน 5 เมตร
ในแนวราบส่งได้ถึง 100 เมตรก็มี (ขึ้นกับรุ่น)

ราคามีตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไป 
ค่อนข้างถูกสุดในทุกประเภทที่กล่าวมา

ปั้มชัก

ชนิดที่สาม : ปั้มชัก + มอเตอร์ DC


ปั้มชนิดนี้ตัวปั๊มน้ำจะต่อกับมอเตอร์ DC 
และมีสายพานช่วยส่งขับกำลัง 

เวลาต่อใช้งานจะต่อท่อดูดลงน้ำ
และต่อท่อส่งไปยังที่ๆ ใช้งาน

ความแรงจะขึ้นกับรอบของมอเตอร์และสายพาน

สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
มีราคาตั้งแต่หลักสองถึงสามพันขึ้นไป
พวกอะไหล่ต่างๆ สามารถหาใช้งานได้ง่าย

ปั๊มซับเมอร์ส

ปั้มซับเมอร์ส หรือ ปั้มบาดาล
(DC Submersible Pump)

ปั้มชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาก็สูงด้วย

นิยมใช้งานในแนวดิ่งลึกเช่นสูบน้ำใต้ดินลึก 50 เมตร

เวลาเลือกใช้งานให้ดูรายละเอียดดีๆ เช่น
ดูดน้ำลึก 50 เมตรสูงไม่เกิน 5 เมตร
หมายความว่า ใช้งานดูดน้ำได้ลึกสุด 50 เมตร 
และเอาขึ้นมาเหนือผิวดินได้ไม่เกิน 5 เมตรเท่านั้น

การวางปั๊มควรวางในแนวดิ่ง
เพื่อให้ตัวปั๊มทำงานได้ดีที่สุด 

และควรระวังเรื่องตะกอนอุตตันเวลาใช้งานด้วย
อาจจะต้องวางลอยขึ้นจากใต้ดินสักหน่อย
เพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าว

ปั๊มชนิดนี้หากมอเตอร์พังขึ้นมา
จะซ่อมเองลำบาก เพราะมอเตอร์
ไม่สามารถถอดออกมาพันเองได้ 
ต้องพันและซีลกันน้ำจากโรงงาน

ราคาค่อนข้างสูงมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น